สมัครสมาชิกเพื่อลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดินฟรี

ประวัติโฉนดที่ดินฉบับแรกของประเทศไทย

โฉนดที่ดินฉบับแรกของไทย

         ประวัติโฉนดที่ดินฉบับแรกของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงเกษตรพร้อมด้วยเจ้าหน้าพนักงานแผนที่เริ่มออกเดินทางสำรวจที่ดินของประเทศเป็นครั้งแรกและดำเนินการรังวัดหมายเลขเขตที่ดินตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการบริเวณบ้านพลับ ตำบลเกาะเกิด อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นปฐมฤษษ์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444)

        เนื่องจากยังไม่มีบทกฎหมายเป็นหลักในการออกโฉนดที่ดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯออกประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 15 กันยายน ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) โดยวางระเบียบการเรื่องโฉนดที่ดินไว้โดยแน่ชัดประกาศพระบรมราชโองการฉบับนี้ ถือได้ว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนที่ดินและสิทธิของผู้เป็นเจ้าของที่ดิน โดยมีแผนที่ระวางแสดงรายละเอียดชี้ได้ว่าที่ดินที่จะดำเนินการออกโฉนดแต่ละแปลงตั้งอยู่บริเวณใด เนื้อที่เท่าใด ใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในทะเบียน
เมื่อดำเนินการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่มณฑลกรุงเก่าเสร็จสิ้นแล้วจึงได้ตั้งหอทะเบียนมณฑลกรุงเก่าขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่สภาคารราชประยูรในพระราชวังบางปะอิน เมื่อวันที่ 20 กันยายน ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) แต่ต่อมาได้จัดตั้งกรมทะเบียนที่ดิน (กรมที่ดินปัจจุบัน) ขึ้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444)
ในการมอบโฉนดที่ดินในครั้งแรกนั้น สืบเนื่องจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับแรมอยู่ ณ พระราชวังบางปะอิน พระยาประชาชีพบริบาล (ผึ่ง ชูโต) ข้าหลวงพิเศษจัดที่ดิน ได้นำโฉนดที่ดินในท้องที่ตำบลบ้านแป้งของพระคลังข้างที่ 2 ฉบับ และของราษฎร 3 ฉบับ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่เจ้าของที่ดินนับเป็นปฐมฤกษ์ โฉนดที่ดินฉบับแรกของประเทศไทยเป็นโฉนดที่ดิน ซึ่งมีพระนาม "สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์" ทรงถือกรรมสิทธิ์ เป็นโฉนดเลขที่ 1 หน้า 1 เลขที่ดิน 117 ระวาง 17 ต 3 อ ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพระราชวัง แขวงเมืองกรุงเก่า (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) เนื้อที่ 91ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา
นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานเกี่ยวกับที่ดิน คือ หมุดหลักฐานศูนย์กำเนิดหมุดแรกในประเทศไทย สร้างขึ้นในสมัยการออกโฉนดที่ดินฉบับแรก และถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การออกโฉนดที่ดินแต่ละแปลงเป็นไปด้วยความถูกต้อง โดยหมุดหลักฐานดังกล่าว ตั้งอยู่กลางทุ่งนาในโฉนดที่ดินเลขที่ 875 หมู่ที่ 4 ตำบลท่าต่อ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งผู้เป็นเจ้าของชื่อนางชิ้น เฉลยโชติ กับพวสกรวม 4 คน โดยสภาพหมุดหลักฐานเป็นหินแกรนนิตแท่นมีการสลบักข้อความทั้งสี่ด้าน บอกถึงความสำคัญของหมุดฐาน และมีร.ศ. ที่จัดสร้างไว้เป็นสำคัญ ปัจจุบันหมุดหลักฐานดังกล่าว มิได้นำมาใช้เป็นหมุดหลักฐานเพื่อวางโครงแผนที่ เนื่องจากกรมที่ดินได้เปลี่ยนแปลงระบบการออกโฉนดจากระบบศูนย์กำเนิดมาเป็นระบบพิกัดฉากสากล (UTM) ที่นิยมใช้กันทั่วโลก
ความเป็นมาของผืนดินพระราชทาน
        สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ตราพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ออกใช้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 และทันทีที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้บังคับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้การสนับสนุนให้โครงการปฏิรูปที่ดินดำเนินไปสัมฤทธิ์ผล พระองค์จึงได้พระราชทานที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำนวน 51,967 ไร่ 95 ตารางวา ในพื้นที่ดิน 8 จังหวัด คือจังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครนายก จังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสระบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นประเดิมเริ่มแรก พระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานที่ดินในครั้งนั้นยังเป็นการหล่อหลอมให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ มีความเข้าใจในนโยบายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมของรัฐบาลตรงกัน และทำให้เกิดผลดีต่อการดำเนินการปฏิรูปที่ดิน
      ต่อมา สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้กันเนื้อที่บางส่วนออกเนื่องจากที่ดินไม่ได้ใช้เพื่อการเกษตร และมีภาระผูกพันกับหน่วยงานราชการอื่น จึงคงเหลือพื้นที่ที่จะดำเนินการการปฏิรูปที่ดินได้ 44,365 - 2 - 0.46 ไร่ อยู่ในท้องที่ 5 จังหวัด คือจังหวัดฉะเชิงเทรา 14,633-1-87 ไร่ จังหวัดนครปฐม 1,009-2-53ไร่ จังหวัดนครนายก 3,542-3-49 ไร่ จังหวัดปทุมธานี 14,015-1-28.46 ไร่ และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 11,164-0-83 ไร่ จัดเกษตรกรเข้าทำประโยชน์จำนวน 3,251ราย รวมเนื้อที่ 40,319-77.46 ไร่ ส่วนพื้นที่อีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่เพื่อการสาธารณูปโภค เนื้อที่ 3,618-0-19 ไร่
       ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชได้ทรงมีพระกรุณาธิคุณพระราชทานที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้แก่สำนักงานการปฏิรูปทิ่ดินเพื่อเกษตรกรรมจำนวน 51,967 ไร่ 95 ตารางวา เพื่อนำไปดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ที่ดินพระราชทานดังกล่าว มีที่ดินที่ออกโฉนดเป็นฉบับแรกของประเทศไทยรวมอยู่ด้วย ส.ป.ก. ได้ดำเนินการจัดที่ดินและได้พัฒนาปัจจัยพื้นฐานให้กับเกษตรกรในพื้นที่พระราชทานที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1 เนื้อที่ 91 ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา ให้แก่เกษตรกร 
จำนวน 9 ราย ดังนี้

1. นายชม ก็ดีซอ เนื้อที่ 16 ไร่ 1 งาน 81 ตารางวา
2. นายเฉลียว นาชะวี เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 95 ตารางวา
3. นางชม ฮิทวาด เนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา
4. นางตีฟ๊ะ ไวยจะรา เนื้อที่ 4 ไร่ 0 งาน 66 ตารางวา
5. นายมณี เมืองฉาย เนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา
6. นายสมนึก รุจิธรรม เนื้อที่ 9 ไร่ 0 งาน 10 ตารางวา
7. นายสมาน สุขพลอย เนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 89 ตารางวา
8. นายพินิจ สุขสาลี เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา
9. นายพัทญา แย้มอยู่ เนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 7 ตารางวา
เป็นที่สาธารณูปโภค ถนน และคลองชลประทาน เนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 91 ตารางวา

แก้ไขเมื่อ : 12 ก.ย. 2561 23:11     ดู 3,690 ครั้ง



คู่มืออื่นเกี่ยวกับ ทั่วไป
ส่องคอนโด High Rise และ Low Rise น่าลงทุนในย่านพระราม 9
พระราม 9 เป็นทำเลใจกลางเมืองที่มีคอนโดเกิดขึ้นมากมายเนื่องจากเป็นย่านธุรกิจที่กำลังเติบโต โดยมีคอนโดหลายโครงการที่น่าสนใจทั้ง High Rise และ Low Rise
ขายฝาก กับ จำนอง คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร
ในวงการอสังหาฯนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าก็มี 2 วิธี คือการขายฝาก กับ การจำนอง ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาทำความเข้าใจว่า ขายฝาก กับ จำนองคืออะไร และจะทำแบบไหนดี
คู่มือการทำธุรกิจและภาษีต่างๆ
รวมคู่มือต่างๆในการทำธุรกิจมีหลากหลายธุรกิจที่ให้ดาวน์โหลดไปศึกษาได้ฟรี เป็นเอกสารความรู้ที่ดีมากๆจากหน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดทำ
ถ่ายทอดสด พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (26 ต.ค. 2560)
ถ่ายทอดสด พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (26 ต.ค. 2560)
ประวัติโฉนดที่ดินฉบับแรกของประเทศไทย
ประวัติโฉนดที่ดินฉบับแรกของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงเกษตรพร้อมด้วยเจ้าหน้าพนักงานแผนที่เริ่มออกเดินทางสำรวจที่ดินของประเทศเป็นครั้งแรก
อ่านทั่วไปทั้งหมด

ผู้สนับสนุน
Facebook